WAVE จับมือ มมส. ผุดโปรเจกต์ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการก๊าซเรือนกระจกผลักดันลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก-มุ่งสู่เป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)
24 July 2023
เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล เอ็มโอยู มหาวิทยาลัยสารคาม จัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการก๊าซเรือนกระจกมือโดยร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งงานวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ภาคเกษตรกรรม และภาคพลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ WAVE ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ และ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ ส่งเสริมการวิจัย และผลิตบุคลากรด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ภาคเกษตรกรรม และภาคพลังงาน โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการวิจัยและการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)
ทั้งนี้การลงนามความร่วมมือดังกล่าว ประกอบไปด้วยพันธมิตรทั้ง 2 ฝ่าย คือ บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด นำโดย นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด พร้อมด้วย นายกิจชาญพิชญ์ สุกังวานวิทย์ กรรมการบริหาร บริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด (มหาชน), นายสมิทธ เหลี่ยมมณี ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Operations Center) ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน
ส่วน มหาวิทยาลัยสารคาม นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม (ในฐานะผู้แทนของ รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พิพัฒน์ สายทอง รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต (ในฐานะผู้แทนของ รองศาสตราจารย์ ดร. จันทิมา พลพินิจ คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ) เป็นผู้ลงนาม และรองศาสตราจารย์ ดร.ธีรวงศ์ เหล่าสุวรรณ หัวหน้าคณะทำงานโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Operations Center) ร่วมเป็นสักขีพยาน
ความร่วมมือดังกล่าวจะนำมาซึ่งโอกาสสำหรับบุคลากรของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ การวิจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ภาคเกษตรกรรม และภาคพลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
โดยการที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) นั้น เป้าหมายที่ 13 คือ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ซึ่งเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายที่ มหาวิทยาลัยฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และยิ่งไปกว่านั้นทาง มหาวิทยลัยฯ ยังได้รับการจัดอันดับจาก Time Higher Education Impact Rankings ในปี 2023 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 301 - 400 ของโลก ซึ่งนับว่าเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก